1. แผนที่ (map)
แผนที่ ตามพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2549 หมายถึง “สื่อรูปแบบหนึ่งที่ถ่ายทอดข้อมูลของโลกในรูปของกราฟิก โดยการย่อส่วนให้เล็กลงด้วยมาตราส่วนขนาดต่าง ๆ และเส้นโครงแผนที่แบบต่าง ๆ ให้เข้าใจตรงตามวัตถุประสงค์ด้วยการใช้สัญลักษณ์”
วิธีการใช้แผนที่ในการศึกษาข้อมูลทางภูมิศาสตร์
วิธีการใช้แผนที่จะต้องเลือกใช้ให้ตรงกับข้อมูลที่ต้องการศึกษา โดยอ่านแผนที่ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ของแผนที่ และใช้มาตราส่วนในการช่วยหาระยะทางตัวอย่างวิธีการอ่านแผนที่มีดังนี้
ตัวอย่างการอ่านข้อมูลลักษณะทางสังคมจากแผนที่เขตอุตสาหกรรมในประเทศบราซิล
แผนที่นี้เป็นแผนที่แสดงกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางด้านอุตสาหกรรมในประเทศบราซิล จากแผนที่จะเห็นได้ว่า เมืองที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลายชนิด ได้แก่ เมืองรีอูดีจาเนรูและเมืองเซาเปาลู นอกจากนี้ยังมีเมืองอื่น ๆ อีก ได้แก่ เมืองเรซีฟี เมืองกูรีตีบา เมืองโฟร์ตาเลซา เมืองซัลวาดอร์ เมืองเบโลโอรีซอนตี และเมืองโปร์ตูอาเลเกร
จะสังเกตได้ว่า เมืองที่มีแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่งเหมาะแก่การตั้งเขตอุตสาหกรรม นอกจากนี้การอยู่ใกล้ทะเล ทำให้เดินทางติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือได้สะดวก
เมื่อศึกษาและอ่านข้อมูลเสร็จ ควรจดบันทึกข้อมูลที่ได้พร้อมกับศึกษาเพิ่มเติมหรือนำไปวิเคราะห์กับแผนที่ประเภทอื่น ๆ ตามที่ต้องการศึกษา จากนั้นนำไปเสนอด้วยวิธีการต่าง ๆ
2. การรับรู้จากระยะไกล (Remote Sensing–RS)
คำว่า การรับรู้จากระยะไกล ตามพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2549 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ระบบสำรวจเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพื้นผิวโลกด้วยเครื่องรับรู้ (sensor) ซึ่งติดไปกับยานดาวเทียมหรือเครื่องบิน เครื่องรับรู้ตรวจจับคลื่นพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าที่สะท้อนจากวัตถุบนผิวโลก หลังจากนั้น มีการแปลงเป็นข้อมูลเชิงตัวเลขซึ่งนำไปใช้แสดงเป็นภาพและทำแผนที่” การรับรู้จากระยะไกลมีผลิตภัณฑ์สารสนเทศที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ รูปถ่ายทางอากาศและภาพจากดาวเทียม
2.1 รูปถ่ายทางอากาศ
รูปถ่ายทางอากาศ (aerial photograph) คือ รูปภาพที่ได้มาจากการถ่ายด้วยกล้องที่ติดตั้งอยู่บนอากาศยานหรือนำไปกับอากาศยาน แล้วอากาศยานนั้นบินอยู่เหนือพื้นที่ที่ต้องการ รูปที่ได้เป็นรูปภาพของลักษณะภูมิประเทศที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลกในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง โดยแบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่
2.1.1 รูปถ่ายทางอากาศในแนวตั้ง (vertical photograph) รูปจะถ่ายในแนวตั้งฉากกับพื้นโลก นำมาใช้ประกอบกับแผนที่หรืออาจใช้แทนแผนที่ได้
2.1.2 รูปถ่ายทางอากาศในแนวเฉียง (oblique photograph) แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. รูปถ่ายเฉียงต่ำ (low oblique)
2. รูปถ่ายเฉียงสูง (high oblique)
2.2 ภาพจากดาวเทียม
ภาพจากดาวเทียม (satellite imagery) เป็นภาพที่เกิดจากการบันทึกข้อมูลเชิงเลขจากดาวเทียม
ภาพที่ได้อาศัยสมบัติที่ว่า วัตถุแต่ละชนิดสะท้อนพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ส่งมาจากเครื่องมือถ่ายภาพบนดาวเทียมได้ไม่เท่ากัน
ภาพจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลกที่นิยมนำมาใช้ในการศึกษาข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ที่สำคัญ ได้แก่ ดาวเทียมแลนด์แซต (LANDSAT) ดาวเทียมไอโคนอส (IKONOS) ดาวเทียมควิกเบิร์ด (QuickBird) และดาวเทียมโนอา (U.S. National Oceanic and Atmospheric Administration [NOAA])
ข้อดีของภาพจากดาวเทียม คือ ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้าง มีความทันสมัย มีค่าใช้จ่ายน้อย และเป็นข้อมูลเชิงเลขที่นำเข้าสู่ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ได้โดยตรง
3. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System–GIS)
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หมายถึง ระบบสารสนเทศที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อรวบรวม จัดเก็บ วิเคราะห์ ปรับปรุง และสืบค้นข้อมูลของพื้นผิวโลก รวมทั้งแสดงผลข้อมูลทางภูมิศาสตร์
3.1 องค์ประกอบของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่
1. ฮาร์ดแวร์ (hardware)
2. ซอฟต์แวร์ (software)
3. ข้อมูล (data) มี 2 ลักษณะ ซึ่งมีรูปแบบการทำงานที่สัมพันธ์กัน ได้แก่
1) ข้อมูลเชิงพื้นที่ (spatial data) มี 2 รูปแบบ ได้แก่
(1) ข้อมูลเวกเตอร์ (vector)
(2) ข้อมูลแรสเตอร์ (raster)
2) ข้อมูลเชิงอธิบาย (attribute data)
4. กระบวนการวิเคราะห์ (process)
5. บุคลากร (people)
3.2 ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์กับระบบอินเทอร์เน็ต
อินเทอร์เน็ต (Internet) คือ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารครอบคลุมทั่วโลก โดยอาศัยโครงสร้างระบบสื่อสารโทรคมนาคมในการเผยแพร่และรับส่งข้อมูลซึ่งเชื่อมโยงกันคล้ายใยแมงมุม
ปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ตมีความเจริญก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพที่ดี จึงมีการนำมาใช้รับส่งข้อมูลทางภูมิศาสตร์ โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดทำและนำเสนอข้อมูลทางภูมิศาสตร์ผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้นำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น www.cartogis.org, www.fgdc.gov, www.usgs.gov, www.geospatial.org, www.gisclimatechange.org
4. ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System [GPS])
ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก หรือระบบจีพีเอส คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการค้นหา กำหนด ตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ บนพื้นโลกด้วยโครงข่ายดาวเทียมระบุตำแหน่ง ซึ่งโคจรอยู่เหนือพื้นโลกประมาณ 20,200 กิโลเมตร จำนวนอย่างน้อย 24 ดวง ระบบนี้ได้พัฒนาขึ้นโดยกระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบจีพีเอสมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่
1. ส่วนอวกาศ (space segment)
2. ส่วนสถานีควบคุม (control segment)
3. ส่วนผู้ใช้ (user segment)
ประโยชน์ของระบบจีพีเอส เช่น การติดตามเคลื่อนที่ของคนและวัตถุ การใช้อ้างอิงการคำนวณเวลา การสำรวจรังวัดและการทำแผนที่ และนำไปประยุกต์ในกิจการต่าง ๆ เช่น การวางผังเมือง การติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม
แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น